วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเกณฑ์ร่วมจ่าย 30 บาท คาดเริ่ม 1 ส.ค.นี้


คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเกณฑ์ร่วมจ่าย 30 บาท คาดเริ่ม 1 ส.ค.นี้ ใช้หลักการสร้างศักดิ์ศรีให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ได้รับยกเว้นมีอยู่แล้ว เป็นกลุ่มเดิม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ คนยากจน คาดร่วมจ่าย 30 บาท จะทำให้รพ.มีเงินเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้น ทั้งจากนโยบายฉุกเฉินมาตรฐานเดียว พร้อมเดินหน้านโยบายรับบริการได้ทั้งวัน เปลี่ยนหน่วยบริการจากปีละ 2 ครั้งเป็น 4 ครั้ง เพื่อเพิ่มความสะดวก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องทางเลือกเชิงนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งของการใช้บริการ

นายวิทยา กล่าวว่า การร่วมจ่าย 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เมื่อปี 2544 แต่ก็ได้มีการยกเว้นบางกลุ่มไว้ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนยากจน (ใช้เกณฑ์กระทรวงมหาดไทย)เป็นต้น แต่ต่อมาในปี 2549 ได้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามการร่วมจ่ายค่าบริการยังคงมีประโยชน์เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้รับบริการ และสามารถสร้างคุณค่าของการรับบริการได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีนโยบายในการร่วมจ่าย 30 บาท เพื่อเป็นมาตรการในการสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของ ของประชาชนในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เป็นมาตรการในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและร่วมมือในการดูแลตนอง รวมทั้งรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง เป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการในระบบ และเงินรายได้จากการร่วมจ่ายสามารถนำมาใช้ในการปรับคุณภาพการบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเงินร่วมจ่ายและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 นี้ โดยมีการร่วมจ่ายกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการและได้รับยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาก็ไม่ต้องร่วมจ่าย จะยกเว้น คนยากจน(จากฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย) และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ทั้งนี้ หน่วยบริการจะมีเงินรายได้จากการร่วมจ่าย คาดว่าปีละ 2,000 ล้านบาท โดยในอนาคต จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพปฐมภูมิ หรือ การสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากรเป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย 23 ล้านคน และอีก 24 ล้านคนเป็นกลุ่มยกเว้นการร่วมจ่าย ซึ่งรพ.สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพบริการเพื่อกลับมาตอบสนองตามความต้องการของประชาชนได้ เช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ หรือนำไปจ่ายค่าตอบแทนเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการให้กับประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าตอบแทนตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น

นายวิทยา กล่าวว่า สำหรับคุณภาพที่ประชาชนจะได้รับจากบริการที่ดีขึ้น ได้แก่
ประการแรก ระบบฉุกเฉินสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน และไม่ถูกถามสิทธิ์ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55
ประการที่ 2 การเปลี่ยนหน่วยบริการกรณีย้ายภูมิลำเนาจะง่ายขึ้นจากเดิมที่เปลี่ยนได้ปีละ 2 ครั้ง จะปรับให้มีการเปลี่ยนได้มากขึ้น เป็น 4 ครั้ง
ประการที่ 3 ประชาชนจะได้รับบริการตามนโยบายรับบริการได้ทั้งวัน ซึ่งหน่วยบริการทั่วประเทศจะเปิดให้บริการตั้งแต่เช้า-บ่าย โดยเริ่มที่ รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ รพ.ในสังกัดอื่นๆ เช่น รพ.มหาวิทยาลัย เป็นต้น เพื่อลดความแออัดของการบริการ ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น
เผยแพร่โดย  : สถานีอนามัย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น