วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สร้างลูกน้อยไอคิวดีอีคิวเลิศ

"ทำไมคนฉลาดทำเรื่องโง่ๆ เป็นเรื่องที่ทำให้คนทั้งโลกตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น  คำตอบคือ สมองคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว"
          คำเกริ่นนำจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างการร่วมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ "ไอคิวดี อีคิวเลิศ...สร้างได้" ในงานมติชนเฮลท์แคร์ ที่ศูนย์การประชุมฯ สิริกิติ์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
          คุณหมอพรรณพิมลกล่าวว่า จากคำตอบที่ว่าสมองของคนเราไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว เพราะเราสามารถทำอะไรหลายเรื่อง และหลายเรื่องที่ว่าก็คือเรื่องของอีคิว ที่ในภาษาไทยใช้แทนคำว่า "ความฉลาดทางอารมณ์" ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับตัวเองในการจัดการกับปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความสามารถที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขกับการดำเนินชีวิต
          ส่วนไอคิวคือความสามารถทางด้านสมองในการคิดวิเคราะห์จัดการข้อมูล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเรียนเป็นส่วนใหญ่ ไอคิวจึงเป็นทักษะพื้นฐานสนับสนุนเรื่องการเรียนให้กับเด็กให้มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน
          นอกจากความหมายของคำว่า "ไอคิวและ อีคิว" ที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปแล้ว ปัจจัยเสริมในการสร้างไอคิวและอีคิวให้เด็กๆ มีไอคิวดี อีคิวเลิศ คือการเสริมสร้างสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวพ่อแม่เอง
          คุณหมอเล่าต่อว่า ปกติคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะกังวลถึงเรื่องไอคิวของลูก กลัวว่าลูกจะไอคิวต่ำ ไม่ฉลาด ไม่เก่ง แต่โดยหลักการทางการแพทย์แล้ว หมอจะไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ ไปตรวจไอคิวเพื่อให้รู้ค่าคะแนนไอคิวถ้าไม่จำเป็นหรือมีข้อสงสัยสำคัญ เพราะค่าปกติของ ไอคิวจริงๆ คือ 100 แต่ค่าทางวิชาการจะบวกลบ 10 ฉะนั้นไอคิว 90-100 คือปกติ ค่านี้จะได้มาจากวิธีการทางเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก แต่ถ้าปกติดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจวัด ถ้าคุณพ่อคุณแม่ปกติลูกก็ปกติแน่นอน เพราะนานๆ ทีจะเจอว่ากระโดดสักครั้ง
          วิธีพื้นฐานอีกอย่างคือสังเกตความสามารถของเขา หากมีอะไรที่ผิดปกติจึงควรไปพบแพทย์ เด็กบางคนจะมีพัฒนาการในไอคิวและอีคิวแตกต่างกันไป จึงไม่ควรไปเร่งรีบหรือกดดันเขา ค่อยๆ เสริมสร้างไปเรื่อยๆ จะดีกว่า
          พญ.พรรณพิมลแนะนำว่า การที่เราจะสร้างปัจจัยสริมสร้างไอคิวและอีคิวเข้าไปในเด็กนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ข้างแล้วช่วยเสริมเข้าไปให้เขา เท่านั้นก็ทำให้ลูกเสริมไอคิวด้วยแล้ว ปัจจัยที่ว่านี้คือ
          1.ความช่างสังเกต เป็นความสามารถอันดับแรกและเป็นสิ่งสำคัญของเด็กในการเสริมปัญญาและเสริมไอคิว มีทั้งเด็กสังเกตเอง แล้วตั้งคำถาม พ่อแม่จะต้องมีเวลาและตอบคำถามให้ลูก เพราะเด็กเล็กๆ ต้องการเรียนรู้จากพ่อแม่
          หรือบางครั้งเราต้องถามชี้ชวนเพื่อให้เขาสังเกต เพราะวัยเด็กที่จะมีความช่างสังเกตมากที่สุดคือช่วง 3-4 ขวบ ถ้าเราปล่อยให้เลยช่วงนี้ไปจะน่าเสียดาย เพราะเด็กจะมีความช่างสังเกตลดลงหรือสนใจในอย่างอื่นมากขึ้น
          2.สมาธิ คือการจดจ่อในสิ่งที่ทำ ปัจจุบันมีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากมายที่มาทำลายสมาธิของเด็กมากขึ้น ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเสียสละในการปิดทีวี ถ้าจะเปิดก็ได้แค่นิดหน่อย ไม่ต้องเยอะมาก เพราะก่อนอายุ 3 ขวบ ไม่มีสิ่งใดเสริมความรู้ให้กับเด็กนอกจากหนังสือและเสียง หากเลี่ยงไม่ได้ควรให้ดูรายการสำหรับเด็กเพียงวันละครึ่งชั่วโมง
          3.ระบบความคิดของเด็ก ตั้งแต่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง คิดเป็นเหตุเป็นผล การคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะในการคิด ทั้งหมดเป็นเรื่องของไอคิว
          ระบบคิดเกิดขึ้นได้จาก 2 กิจกรรมที่สำคัญ คือ การเล่น เด็กพัฒนาระบบความคิดจากการเล่น เป็นการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นตัวต่อหรือบล็อกไม้ เพราะในเวลาที่เด็กเล็กเล่นเขาจะมีการวางแผน และจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ลึกกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กนำจินตนาการมาร่วมด้วย อุปกรณ์การเล่นที่สำคัญที่สุดคือพ่อและแม่
          อีกสิ่งหนึ่งคือ การอ่านหนังสือ จะช่วยในเรื่องภาษา การเข้าใจสถานการณ์ เพราะมีภาพให้เด็กเข้าใจ และมีวิธีคิดซึ่งเป็นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นการคิดแบบมีเหตุมีผล มีข้อมูลสนับสนุน ตัวเลขและการคำนวณ เป็นการวางรากฐานของสติปัญญา ฐานแบบนี้ใช้ได้กับเด็กทุกวัย เมื่อเด็กโตขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงเป็นการเล่นแบบประดิษฐ์




          ส่วนการเสริมสร้างอีคิวให้เป็นเลิศในเด็กนั้น พญ.พรรณพิมลให้เทคนิคไว้ 5 ข้อ คือ
          1.ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของคำว่าอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ ว่าเขามีความสามารถอะไร ทำอย่างไร รับรู้อารมณ์ตัวเองว่าเป็นอย่างไร เด็กจะเรียนรู้อารมณ์ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ
          2.จัดการอารมณ์ตัวเอง เมื่อเด็กๆ รู้แล้วว่าตัวเองมีอารมณ์อย่างไร โกรธ โมโห พ่อแม่ต้องช่วยหาวิธีจัดการกับอารมณ์ให้เขา โดยอาจเบี่ยงเบนความสนใจ หรือถ้าเป็นเด็กโตจะต้องคุยกันให้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ การที่เราไม่ทำตามใจเขาเพราะอะไร
          3.ฝึกให้ลูกมีแรงจูงใจ ทำอะไรด้วยตัวเอง โดยมีเราคอยแนะนำช่วยเหลือและชื่นชม ปัจจุบันเด็กเล็กๆ จะไม่ทำอะไรด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกลำบาก แต่นั่นคือการทำให้ลูกไม่คิดวางแผนหรือพยายามในการทำอะไร เมื่อเติบโตขึ้นแล้วทำอะไรไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีก็จะเกิดเป็นอารมณ์โมโหหรือหงุดหงิด
          4.ต้องรู้จักเห็นใจคนอื่น การทำให้เด็กรู้จักเห็นใจน้องหรือเพื่อนที่เล่นด้วยกัน มีน้ำใจ มีการอะลุ่มอล่วย เป็นการฝึกฝนให้เด็กมีจิตใจที่ดี ใจเย็น และควบคุมอีคิวให้คงที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยอมเพื่อนหรือน้องเสียทั้งหมด ข้อนี้ควรแยกแยะให้เด็กเข้าใจด้วยว่าอันไหนควรไม่ควร เหมาะสมหรือไม่อย่างไร
          5.ทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นพื้นฐานของทั้งหมดในการใช้ชีวิต เมื่อต้องออกไปอยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ช่วยเสริมสร้างส่วนนี้ เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียนหรือต้องไปเล่นกับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคย เขาจะต่อต้านหรือเกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ อาจกลายเป็นปัญหาไปกระทบสิ่งอื่นๆ ได้ เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเล่นกับเพื่อน ไม่มีเพื่อนเล่น เป็นต้น


อ้างอิง : http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news2.php?names=02&news_id=1564
เผยแพร่โดย : สถานีอนามัย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น