วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทความสุขภาพ : โรคลมแดด



บทความสุขภาพ วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง โรคลมแดด
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเตือนประชาชนระวังเป็นโรคลมแดดช่วงหน้าร้อน "หมออนุชา" ระบุอากาศร้อนจัดความเสี่ยงยิ่งมาก แนะประชาชนสังเกต 4 อาการเบื้องต้น เหงื่อไม่ออก ตัวร้อนขึ้น หายใจติดขัดอาเจียน วิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ชี้ดื่มน้ำมากๆ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้
สืบเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยในขณะนี้ทำให้การปรับตัวในการรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของประชาชนในหลายพื้นที่เป็นไปอย่างยากลำบาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้จัดทำคำเตือนและแนะนำให้ประชาชนรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยในขณะนี้
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่าสภาพอากาศของประเทศไทยในขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งร้อน สลับหนาวหรือบางวันก็มีฝนตกจึงทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยในขณะนี้ได้ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจัดอาจจะทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือการเป็นลมจากอากาศร้อน (โรคฮีทสโตรค)  ที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ทันกับการที่ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดอบอ้าวและไม่มีอากาศถ่ายเท รวมถึงการออกกำลังกายในที่ร้อนจัดมากๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ด้วย ซึ่งอากาศร้อนในลักษณะนี้นั้นจะทำให้เส้นเลือดส่วนปลายขยายตัวมากและทำให้ความดันโลหิตต่ำลง จนทำให้เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดและเป็นลมได้
นพ.อนุชากล่าวอีกว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้กับคนที่ร่างกายแข็งแรงซึ่งคนที่เป็นลมแดดนั้นสมองจะไม่ทำงานรวมถึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ และอุณหภูมิในร่างกายได้โดยคนที่เป็นลมแดดนั้นอุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มสูงกว่าปกติถึง 40 องศาซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะมีโอกาสในการเสียชีวิตสูงหากพบแพทย์ไม่ทันท่วงทีทั้งนี้ประชาชนต้องเฝ้าสังเกตอาการของตนเองด้วยว่ากำลังจะเป็นโรคลมแดดหรือไม่โดยอาการเบื้องต้นของโรคนี้คือ 1. ไม่มีเหงื่อออก  2. กระหายน้ำมาก 3.ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ  4. วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็วอาเจียน  หากเกิดอาการดังกล่าวจำเป็นต้องหยุดพักทันทีและรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำตัวพบแพทย์ทันที
"สำหรับวิธีในการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดคือควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วและหากท่านต้องทำงานหรือปฏิบัติภารกิจภายใต้อากาศที่ร้อนจัดจะต้องดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ1 ลิตรและควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อาทิผ้าฝ้าย พร้อมกับหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดแรง ๆ ด้วย" เลขาธิการ สพฉ.กล่าว

ที่มา :  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
อ้างอ้ง http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/33740

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น